ยาคุมฉุกเฉินคืออะไร?
ยาคุมฉุกเฉิน
เป็นฮอร์โมนเช่นเดียวกับยาคุมกำเนิดธรรมดา แต่มีขนาดยาสูงกว่า กินเพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น
เกิดจากความผิดพลาดจากวิธีคุมกำเนิดที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการรั่วหรือฉีกขาดของถุงยางอนามัย
หรือลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่2เม็ดขึ้นไป หรือใช้ในกรณีผู้หญิงถูกข่มขืน ซึ่งยาคุมฉุกเฉินจะป้องกันการตกไข่
ยาคุมฉุกเฉินต่างจากยาคุมธรรมดาอย่างไร
ยาคุมฉุกเฉินมีส่วนผสมเช่นเดียวกับยาคุมธรรมดา
แต่มีปริมาณ ฮอร์โมนต่อเม็ดสูงกว่า
ต้องกินหลังจากมีเพศสัมพันธ์ภายใน เวลาที่กำหนดเท่านั้นจึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ยาคุมธรรมดามีปริมาณฮอร์โมนต่อเม็ดน้อยกว่าซึ่งต้องกินวันละ 1 เม็ดทุกๆวัน
ประเภทยาคุมฉุกเฉิน
ในกลุ่มของยาเม็ดรับประทานมีหลายกลุ่ม เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียว , ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน อย่างเดียว, ฮอร์โมนรวม และ ดานาซอล แต่ที่นิยมและหาได้ง่ายมีเพียง
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียวและฮอร์โมนรวมเท่านั้น ในประเทศไทยปัจจุบัน
มียาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินที่นิยม คือ โพสตินอร์ (Postinor®)
และ มาดอนนา (Madonna®) ซึ่งขายเป็นแผง โดยมียาบรรจุไว้ 2 เม็ด
ประเภทยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
1. ยาเม็ดโปรเจสตินอย่างเดียว
ประกอบด้วย Levonorgestrel
มี 2 ขนาด คือ
1. 1.5 mg รับประทานครั้งเดียว
2. 0.75 mg รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง และควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์
1. 1.5 mg รับประทานครั้งเดียว
2. 0.75 mg รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง และควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์
2. ยาเม็ดฮอร์โมนรวม (Yuzpe regimen)
เป็นฮอร์โมนรวมระหว่าง estrogen และ progestin
คือ ethinyl estradiol 0.1 mg รวมกับ
Levonorgestrel 0.5 mg รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12
ชั่วโมงและควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์
**แต่มีผลข้างเคียงมากกว่าแบบแรก**
ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
ควรรับประทานยาเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ตามด้วยยาเม็ดที่สองซึ่งจะให้ประสิทธิภาพใน
การป้องกันการ ตั้งครรภ์ได้ 75 %
แต่หากเริ่มยาภายใน 24ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
เพิ่มขึ้นเป็น 85 %
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
1. คลื่นไส้อาเจียน อาจแก้ได้โดยการรับประทานยาอาเจียน metoclopramide ในขนาด 10 mg ก่อนการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด 1 ชั่วโมง จะสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ 2. เลือดออกกะปริดกะปรอย การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้มีอาการเลือดออกกะปิดกะปรอยได้ แต่เลือดที่ออกมานั้นจะมีไม่มากและมักจะหยุดไปเอง 3. การเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ประจำเดือนมาก่อนหรือหลังปกติประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าหากเลย 1 สัปดาห์ไปแล้วอาจมีการตั้งครรภ์ได้ 4. อาการอื่นๆ เช่น ปวดท้อง คัดตึงเต้านม ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย อาการเหล่านี้มักจะหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง
ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินไม่ควรกินร่วมกับยาใดบ้าง
มีการศึกษาพบว่า
เมื่อทานยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินร่วมกับยารักษาวัณโรค(Antituberculosis) หรือ ยากันชัก (Anticonvulsant) หรือ ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
จะทำให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดลดลงได้
ข้อควรระวัง
สำหรับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก, โรคหัวใจ, โลหิตแข็งตัว
หรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับเส้นเลือดหัวใจอาจต้องปรึกษาแพทย์เสียก่อน
อาจใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งปลอดภัยกว่าชนิดฮอร์โมนรวม
อย่างไรก็ตาม ประมาณ 20 ปีที่มีการผลิตยานี้ขึ้นมาใช้
ยังไม่พบว่ามีรายงานการเสียชีวิต หรืออาการแทรกซ้อนร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน
ถ้ากินยาคุมฉุกเฉินแล้วแต่ยังตั้งครรภ์ เด็กในครรภ์จะพิการหรือไม่
การกินยาคุมฉุกเฉินในกรณีฉุกเฉินจริง
ๆ ไม่ได้กินบ่อย ๆ ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ทารกมีความพิการแต่กำเนิด
ไม่ว่าจะเป็นในกรณีที่ผู้หญิงกินยาโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่
หรือกินยานี้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แต่ไม่ได้ผลก็ตาม เพราะมีการศึกษาพบว่าการกินยาคุมในขณะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้นไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อความพิการของทารก
ที่จะคลอดออกมา
ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
- เข้าใจว่ายาคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถคุมกำเนิดได้ในระยะยาว
หากต้องการคุมกำเนิดระยะยาวควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบปกติซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่า หากรับประทานยาคุมฉุกเฉินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจมีอาการข้างเคียงจากการรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ
เลือดออกกระปิดกระปรอย ทั้งนี้ยังรวมถึงการตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย
- ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาทำแท้ง
ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง แต่ป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้นโดยยาจะป้องกันการฝังตัวของไข่ที่ผนังมดลูก แต่ถ้าหากไข่ปฏิสนธิและฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้ว
ยาจะไม่มีผลใด ๆ ดังนั้น ยาคุมกำเนิดจึงไม่ใช่ยาทำแท้ง
- ยาคุมฉุกเฉินสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ยาคุมฉุกเฉินและยาคุมกำเนิดแบบปกติ ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
แต่วิธีที่สามารถป้องกันได้คือการใช้ถุงยางอนามัย
อย่าลืมว่า!
ยาคุมฉุกเฉินช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์เท่านั้น
ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใดๆ
เลย
สิ่งที่จะช่วยป้องกันการติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือ
" ถุงยางอนามัย "
ซึ่
งการใช้ถุงยางเปรียบเสมือน
ใช้กระสุนนัดเดียว
ยิงนกได้สองตัว
เพราะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ และป้องกันการติดโรคได้ในขณะเดียวกัน
แหล่งอ้างอิง
1. ผศ.ชบาไพร โพธิ์สุยะ. (2549).
การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน. พิมพ์ครั้งแรก. เชียงใหม่: ห้างหุ้นส่วนจำกัด
เชียงใหม่แสงศิลป์.
2. ภญ.พิชญา
ดิลกพัฒนมงคล. (2554). ยาคุมฉุกเฉิน เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้. วันที่ค้นข้อมูล 6 กรกฎาคม 2555,จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เวปไซด์: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=54
3. นพ.ชำนาญ แท่นประเสริฐกุล. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินใช้อย่างไรให้ถูกต้อง.
วันที่ค้นข้อมูล 8 กรกฎาคม 2555,จาก Thaiclinic เวปไซด์: http://www.thaiclinic.com/medbible/emergencypill.html